COLUMNIST

เก็บตกพลังงานทดแทนบนเส้นทางธุรกิจ-มิตรภาพ กับนายกยิ่งลักษณ์ ปักธงลงตัวที่แอฟริกา
POSTED ON -


 

จากการร่วมคณะเยือนประเทศต่างๆ กับคณะนายกรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีด้านการเมืองและเปิดประตูธุรกิจอย่างสร้างสรรค์และเสมอภาคด้วยความไว้วางใจซึ่งกันและกัน บนเส้นทางธุรกิจ-มิตรภาพอันยาวไกลของภาครัฐร่วมเอกชน มีประสบการณ์ดีๆ ด้านพลังงานทดแทนเก็บตกมาฝาก ตั้งแต่การเยือนสวีเดนและประทับใจใน SymbioCity จนถึงวันนี้ที่แอฟริกา คู่ค้าที่ไม่ใช่คู่แข่ง

 

คงต้องยอมรับว่า ธุรกิจนิวเวฟหรือคลื่นลูกใหม่ของโลกก็คือ “พลังงาน” และก็หนีไม่พ้นพลังงานทดแทน ซึ่งประเทศที่รวยที่สุดจนถึงกลุ่มประเทศที่ยากจนแทบไม่มีอาหารเลี้ยงประชากร ต่างก็สนใจในพลังงานไม่แตกต่างกัน เพียงแต่ต่างจุดมุ่งหมาย กล่าวคือ ประเทศร่ำรวยมองหาเทคโนโลยีแพง ๆ ไปขายประเทศกำลังพัฒนา ส่วนประเทศยากจนก็ต้องรู้เท่าทันประเทศร่ำรวย โดยการไม่ขายพลังงานในราคาถูก เพื่อสงวนไว้ให้ลูกหลานของตนเอง

 

สำหรับประเทศไทยอยู่ตรงกลางระหว่างความรวยกับความยากจน จึงเป็นทั้งผู้ซื้อและผู้ขายพลังงานทดแทน ถนนทุกสายสู่อาเซียนจึงพักเติมพลังที่ประเทศไทย ทัวร์ธุรกิจ-มิตรภาพ รัฐร่วมเอกชน จึงค่อนข้างได้รับความสนใจจากนานาประเทศที่คณะของเราได้ไปเยือน ถึงแม้จะเหน็ดเหนื่อยแต่ภาคเอกชนก็รับได้ และคำนึงเสมอว่าส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายในการเดินทางร่วมคณะนายกรัฐมนตรีมาจากงบประมาณแผ่นดิน

 

ทวีปแอฟริกา มีทั้งหมด 54 ประเทศ มีประชากรรวมกันกว่า 1,100 ล้านคน จากอัตราการเพิ่มของประชากร คาดว่าอีก 5-6 ปี จะมีประชากรถึง 1,400 ล้านคน เทียบเท่ากับประเทศจีน ซึ่งแอฟริกาถือว่ามีสังคมเมืองที่เติบโตค่อนข้างเร็ว ประชากรส่วนใหญ่อายุต่ำกว่า 35 ปี

 

GDP เติบโตเฉลี่ยของทั้งทวีปรวมกันอยู่ที่ 5-7.5% มีการค้ากับประเทศไทยประมาณ 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ อีกทั้งยังมีการรวมตัวตั้งกลุ่ม SADC (Southern African Development Community) ซึ่งมีประชากรรวมกันราว 280 ล้านคน เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาร่วมกัน นอกจากนี้ แอฟริกายังมีทรัพยากรประเภทแร่ธาตุและอัญมณีในปริมาณมาก และมีการสำรวจพบก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน และน้ำมัน ในปริมาณมากเช่นกัน

 

อ่านมาถึงตรงนี้ก็พอจะถึงบางอ้อได้แล้วว่าทำไมแอฟริกากลายเป็นสาวสวยที่มหาอำนาจหมายปอง ไม่ว่าจีน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือแม้แต่ประเทศเล็กๆ ที่กำลังพัฒนาอย่างประเทศไทย หากท่านกำลังมองแอฟริกาอยู่ สิ่งที่ต้องเข้าใจอันดับต้น ๆ ก็คือ โลกในสังคมออนไลน์อย่างปัจจุบัน ชาวแอฟริการู้และเข้าใจทุกอย่างเท่ากับประเทศที่พัฒนามากกว่า เพียงแต่ยังขาดทางเลือก โอกาส และอำนาจต่อรอง วันนี้นักธุรกิจชาวแอฟริกาต้องการร่วมทุนกับไทย ต้องการให้ไทยไปตั้งโรงงานแปรรูปสินค้า ไม่ต้องการส่งออกวัตถุดิบเหมือนในอดีตอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อัญมณี

 

จากการร่วมเดินทางเยือนแอฟริกาทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่ โมซัมบิก แทนซาเนีย และยูกันดา พวกเราค่อนข้างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ประเทศในกลุ่มแอฟริกามีความพร้อมที่จะรวมตัวเป็นกลุ่มประเทศเดียวกันในระยะเวลาอันสั้น หากไม่ถูกแทรกแซงจากภายนอก

 

นับจากวันแรก การนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ มักนำเสนอทั้งทวีปหรือไม่ก็ภูมิภาค โดยไม่มีการพาดพิงหรือสร้างความสำคัญให้ประเทศตนเองเหนือประเทศผู้อื่น จึงได้นำตัวอย่างข้อมูลที่น่าสนใจมาให้อ่านกัน

 

ประเทศแรกที่เราเยือนคือ “โมซัมบิก” (Mozambique) ประเทศนี้เคยถูกครอบครองโดยโปรตุเกส มี “กรุงมาปูโต” (Maputo) เป็นเมืองหลวง มีพื้นที่ประมาณ 801,590 ตารางกิโลเมตร มีประชากรในปี 2555 ราว 23 ล้านคน ภาษาที่ใช้ คือ ภาษาโปรตุเกส มีระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ ระบบสภาเดียว มีประธานาธิบดีเป็นประมุขแห่งรัฐ ซึ่งมาจากการเลือกตั้ง และมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำรัฐบาล

 

GDP ของโมซัมบิกเมื่อปี 2555 อยู่ที่ 15.0 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 7.4% อุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การทำเหมืองถ่านหิน การเกษตร การประมง เครื่องดื่ม เคมีภัณฑ์ อะลูมินั่ม ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม สิ่งทอ ซีเมนต์ แก้ว และยาสูบ

 

โมซัมบิก ให้ความสำคัญพลังงานทดแทนอย่างเป็นทางการ ในการนำเสนอแผนต่าง ๆ ดูมั่นใจและมีความเป็นไปได้ โดยมุ่งไปที่พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานชีวมวล และพลังงานน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลังงานน้ำ (Hydro Power) มีศักยภาพถึง 18,000 MW และได้มีการใช้พลังจากน้ำนี้ไปแล้ว 20% ของศักยภาพ โดยมีโครงการที่ดำเนินการไปแล้วกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ

 

ส่วนพลังงานลม ได้ข้อมูลมาว่ามีพื้นที่ที่มีกระแสลมมากกว่า 6 เมตรต่อวินาที สามารถผลิตไฟฟ้าได้กว่า 100 MW มีศักยภาพผลิตไฟฟ้าได้กว่า 3,000 ชั่วโมงต่อปี ส่วนพลังงานชีวมวลจากเศษเหลือทิ้งจากภาคการเกษตร มีศักยภาพกว่า 1,286 MW และมีความพร้อมด้าน Feedstock พร้อมให้ลงทุนทันทีกว่า 200 MW ส่วนระยะเวลา PPA ก็ยาวนานถึง 20 ปี หากใครสนใจก็ลองศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมดู

 

“แทนซาเนีย” (Tanzania) เป็นประเทศที่สอง ที่คณะของเราไปเยือน ประเทศนี้มีคำขวัญว่า “อิสรภาพและเอกภาพ” ปี 2555 มีประชากร 47.78 ล้านคน มีพื้นที่ 945,200 ตารางกิโลเมตร อัตราการเพิ่มของประชากร 2.1% ประกอบด้วย ชนเผ่าต่าง ๆ กว่า 120 เผ่า ต่างภาษาและต่างสำเนียง ส่วนภาษาที่ใช้คือ ภาษาอังกฤษ และภาษาสวาฮีลี (Swahili) เป็นภาษาราชการและใช้กันทั่วไป เมืองหลวงคือ "กรุงโดโดมา" (Dodoma) แบ่งการปกครองออกเป็น 25 เขต แทนซาเนียได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 26 เมษายน พ.ศ.2507 และมีแนวทางกฎหมายเป็นแบบอังกฤษ (English Common Law)

 

GDP ของแทนซาเนียในปี 2554 อยู่ที่ 2.3 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐ  อัตราการเจริญเติบโต (2549-2553) 1.84%, GDP per Capital (2554) เท่ากับ 456 ดอลล่าร์สหรัฐ  อัตราเงินเฟ้อ 11% ส่วนดอกเบี้ยเงินกู้ 16% ค่าแรงขั้นต่ำ 60 เหรียญสหรัฐต่อเดือน  มีจำนวนคนรู้หนังสือ 69% และคนว่างงาน 10.7%

 

แทนซาเนียเป็นประเทศที่ต้องขอบอกว่ามีความพร้อมด้านพลังงานทดแทนมากที่สุดใน 3 ประเทศที่เราไปเยือน โดยจะยกตัวอย่างระยะเวลาการขออนุญาตประกอบกิจการของแทนซาเนียมาให้ดู ราวกับเขารู้ว่าประเทศเรามีปัญหาด้านนี้อยู่ อ่านดูแล้วคิดเห็นอย่างไร อยากให้ช่วยมาแชร์กัน

 

ประเทศสุดท้ายที่คณะเราไปเยือน คือ “ยูกันดา” (Uganda) อดีตดินแดนในอารักขาของอังกฤษ ได้รับเอกราชเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2505 มี “กรุงกัมปาลา” (Kampala) เป็นเมืองหลวง มีพื้นที่ประมาณ 236,040 ตารางกิโลเมตร มีประชากรในปี 2555 ราว 36.1 ล้านคน ภาษาที่ใช้ คือ ภาษาอังกฤษและภาษาท้องถิ่น เช่น Luganda, Kiswahili, Luo, Lunyoro-Lutoro Bantu และ Arabic มีระบอบการปกครองแบบสาธารณรัฐ มีประธานาธิบดีเป็นประมุขและหัวหน้ารัฐบาล  ขณะที่ GDP ในปี 2555 ของยูกันดาอยู่ที่ 21.87 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (2555) อยู่ที่ 5.3%

 

ทั้ง 3 ประเทศ มีนโยบายด้านพลังงานทดแทนชัดเจนและพร้อมปรับนโยบายให้จูงใจนักลงทุนมากขึ้นอีก หากท่านใดที่สนใจขยายธุรกิจและชอบทำธุรกิจแบบ High Risk High Return ก็อยากให้ลองพิจารณาตลาดใหม่อย่างกลุ่มประเทศแอฟริกา ซึ่งมีคู่แข่งน้อย และเป็นคู่ค้าที่ไม่ใช่คู่แข่งในระยะยาว อีกทั้งยังมีทัศนคติที่ดีต่อประเทศไทยด้วย